ข้อกำหนดรายละเอียดขอบเขตงานออกแบบ

อาคาร 55 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

  1. ที่มาและความสำคัญ

          จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยใน 3 มิติสำคัญ คือ 1. เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” 2. เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม และ 3. เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง คณะวิศวกรรมศาสตร์มีหน้าที่สำคัญในการเป็นตัวเชื่อมการพัฒนาองค์ความรู้และการผลิต โดยการเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ จึงจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาการจากการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบเดิมไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้สมัยใหม่ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (รวมถึง upskill และ reskill) เป็นแหล่งแสดงนวัตกรรมต้นแบบที่สำคัญให้กับชุมชน สังคม และภาคธุรกิจ สามารถเข้าถึงกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ง่ายขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้ออำนวยแก่ทุกภาคส่วน ให้สามารถเข้าถึงและมาใช้ประโยชน์และติดต่อการงานต่าง ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการเปลี่ยน “ปัญหาและความท้าทายในการเข้าถึง” ให้เป็นศักยภาพและโอกาส ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับการสร้างความร่วมมือและถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสิ่งที่ขาดเสียมิได้คือความพร้อมทางด้านกายภาพและปฏิรูปการทำงานไปพร้อม ๆ กัน โดยการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนและสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ การวิจัยพัฒนา และบุคลากรระดับโลก ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของการ “รู้จักเติม รู้จักพอ และรู้จักปัน”

          คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดสอนในศาสตร์วิศวกรรมสาขาต่าง ๆ ได้แก่ สาขาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลและเมคาทรอนิกส์ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการและการผลิต สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ สาขาวิชาวิศวกรรมเคมีและสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ รวมถึงในอนาคตได้ส่งเสริมให้เกิดศาสตร์ใหม่ๆที่ตอบโจทย์ความทันสมัย เช่น เทคโนโลยีด้าน ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบราง และ รถไฟความเร็วสูง ระบบอัตโนมัติ ตลอดถึงพัฒนาด้านไอทีที่ทันสมัย การบูรณาการองค์ความรู้ทั้งหมดเพื่อพัฒนาบุคคล ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อการใช้งานของภาคอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญในการสร้างวิศวกรที่ตอบสนองภาคอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องที่จะสามารถตอบสนองต่ออุตสาหกรรมในอนาคตได้อย่างตรงเป้าหมาย จึงมีแนวคิดในการดำเนินการขยายผลตั้ง “ศูนย์ร่วมมือพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้สำหรับอุตสาหกรรมและสังคมสู่ประเทศไทย 4.0” เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรม ฝึกอบรม และ พัฒนาฝีมือแรงงานให้มีความรู้และบูรณาการ ความชำนาญด้านงานวิศวกรรม ที่สามารถเชื่อมโยงในระบบการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกทั้งยังจะสามารถขยายผลเป็นแกนนำในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ดีในอนาคต

          เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางวิศวกรรมสู่ชุมชน และภาคธุรกิจ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงจำเป็นจะต้องมีการจัดสรรพื้นที่และอาคารที่เป็นหน่วยงานกลางอันเป็นแกนหลักและเป็นศูนย์รวมของวิศวกรในภาคใต้ เพื่อสร้างความรู้ ความสามารถ และแรงจูงใจในการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้สมัยใหม่ โดยผ่านการแสดงผลงาน ฝึกอบรม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่มีความเป็นเลิศเฉพาะด้าน ทำให้รับรู้ถึงปัญหาและร่วมกันหาแนวทางแก้ไข เพื่อนำความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดเพื่อพัฒนาสังคม อันจะส่งผลผลให้เกิดผลการพัฒนาในกลุ่ม SME ที่เป็นกลุ่ม Startup ที่ช่วยพัฒนาสังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะสังคมภาคใต้ ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์มีหลักสูตรการอบรมที่สามารถอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชุมชนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีความประสงค์ที่จะให้อาคารดังกล่าวมีความสง่างาม ทันสมัยและสะท้อนความเป็นศาสตร์ทางวิศวกรรม เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของคณะ ตอบสนองประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่สูงสุดและดึงดูดผู้ที่จะมาศึกษาและทำความร่วมมือต่าง ๆ ในอนาคต อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 55 ปี จึงเกิดขึ้นภายใต้หลักคิด “ศูนย์ร่วมมือพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้สำหรับอุตสาหกรรมและสังคมสู่ประเทศไทย 4.0” เพื่อเป็นพื้นที่สนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยมีแนวคิดในการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ดังแสดงในรูปที่ 1 ดังรายละเอียดต่อไปนี้

          1) เป็นพื้นที่ที่ให้บริการด้านการเก็บรวมรวมองค์ความรู้และถ่ายทอดซึ่งกันและกัน (2-way knowledge transferring) ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทยาลัย คณะฯ สมาคมฯ องค์กร และ สังคม อีกทั้งเป็นอาคารที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง                          

          2) เป็นพื้นที่ที่ทำการวิจัยร่วมกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และพัฒนาสิ่งผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่จากองค์ความรู้ที่ได้รวบรวมและถ่ายทอด ทำให้เกิดการสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพในภาคเอกชน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม เกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้จริง              

          3) เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์รวมกันของนักศึกษา บุคลากร ศิษย์เก่า บุคคลทั่วไป สำหรับทำกิจกรรม สัมพันธ์ การบริการวิชาการ และ สันทนาการ และจัดสรรเพื่อเป็นรายได้ในการดำเนินงานและบำรุงรักษาอาคาร

 

รูปที่ 1 แนวคิดของการใช้ประโยชน์ของอาคาร

       2. วัตถุประสงค์

          เพื่อหาผู้ร่วมออกแบบแนวคิด (conceptual) อาคาร 55 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งในส่วนการวางผัง งานสถาปัตยกรรมภายนอกและภายในตามรายละเอียดของพื้นที่และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ให้มีความทันสมัย มีอัตลักษณ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของคณะฯ และ ตอบสนองประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่สูงสุด

 

       3. คุณสมบัติของผู้เสนอผลงาน

          เป็นบุคคลหรือนิติบุคคล สนในหรือประกอบกิจการเกี่ยวกับงานออกแบบสถาปัตยกรรม มีคุณวุฒิ ประสบการณ์ หรือมีผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมหรือสถาปัตยกรรมภายใน ทั้งนี้อาจเป็น นิสิต-นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และควรมีทีมงานและความพร้อมในการเขียนแบบรายละเอียดได้

 

      4. สถานที่ก่อสร้าง

          โครงการอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 55 ปี ตั้งอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ระหว่างอาคารสตางค์ มงคลสุข (คณะวิศวกรรมศาสตร์) และ อาคารเรียนและปฏิบัติการพื้นฐาน (BSC) (คณะวิทยาศาสตร์) มีขนาดพื้นที่ประมาณ 2.5 ไร่ ดังแสดงในรูปที่ 2 (กรอบเส้นประแดง) โดยอาคารของโครงการอยู่ในโซน 2 (กรอบเส้นทึบเหลือง) พื้นที่โดยรวมประมาณ 1 ไร่ครอบคลุมอาคารไม้เก่าและอาคารโรงไฟฟ้า โดยอาคารโรงไฟฟ้านั้นสามารถรื้อออกเพื่อหาที่จัดวางเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองในตัวอาคารใหม่หรือออกแบบปรับผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของอาคารใหม่ของโครงการได้และให้กลมกลืนกัน

รูปที่ 2 บริเวณพื้นที่โครงการฯ

 

        5. ขอบเขตของงาน

          ผู้เสนอผลงานจะต้องดำเนินการออกแบบแนวคิดทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและภายในอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 55 ปี วงเงินค่าก่อสร้างรวม 55 ล้าน ราคาค่าก่อสร้างในอัตรา 25,000 บาท/ตรม. ต้องการอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 2,000-2,200 ตรม. พร้อมงานระบบประกอบอาคาร อาทิเช่นงานไฟฟ้า ปรับอากาศ สุขาภิบาล ดับเพลิง ไอที อื่นๆ และ งานตกแต่งภายใน มีรายละเอียดความต้องการด้านพื้นที่ใช้สอยเบื้องต้นเป็นเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ใช้สอยรวม ดังนี้

- มีพื้นที่แสดง Hall of Fame และ ลานจัดแสดงกิจกรรมต่าง ๆ ประมาณ 10% (เฟส-1)

- ห้องประชุม/สัมมนา ขนาดจุ 40-50 คน ประมาณ 5% (เฟส-3)

- พื้นที่ใช้สำหรับอบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัย และ บริการวิชาการ เชิงวิศวกรรมและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของความทันสมัยข้างต้นประมาณ 25% (เฟส-1)

- พื้นที่สำรองเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรม นโยบายใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อความก้าวหน้าและยั่งยืนประมาณ 5% (เฟส-2, 3)

- พื้นที่สาธารณะโล่ง พื้นที่สำหรับอ่านหนังสือ ร้านค้าและอาหาร ประมาณ 15% (เฟส-1)

- พื้นที่แบ่งจัดสรรให้ผู้ร่วมลงทุน ผู้ประกอบการแบบเจาะจงเป้าหมาย ใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับงานทั้งด้านวิศวกรรม ความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยี และ ทางธุรกิจได้ประมาณ 30% (เฟส-1)

- พื้นที่แบ่งจัดสรรให้สมาคมศิษย์เก่าและศิษย์เก่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ใช้ประโยชน์ด้านที่ทำการ ทำความร่วมมือกับศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และ เครือข่ายในความร่วมมือต่าง ๆ ได้ประมาณ 10% (เฟส-2, 3)

- ชั้นจอดรถใต้ดิน ความจุประมาณ 50-55 คัน (เฟส-1)

- ในอาคารต้องจัดให้มีพื้นที่ส่วนกลางของห้องควบคุมงานระบบของอาคาร ห้องพนักงานรักษาความปลอดภัยพร้อมระบบ CCTV พื้นที่สัญจร ทางเดิน บันได และปลีกย่อยอื่นๆ ห้องเก็บของส่วนกลาง และ ห้องเก็บวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือทำความสะอาด และพื้นที่ซักล้างด้วย

    

       6. กรอบแนวคิดในการออกแบบ

          ให้ผู้ประสงค์ส่งประกวดออกแบบแนวคิดให้มีรายละเอียดที่คำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้

6.1 อาคาร 55 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ออกแบบให้มีความทันสมัย มีอัตลักษณ์ มีการประยุกต์ใช้วัสดุหลากหลายทั้งในส่วนโครงสร้างองค์อาคารหลักและองค์อาคารประกอบอย่างเหมาะสม ความสูงของอาคารไม่บดบังภาพลักษณ์ของอาคารสตางค์ มงคลสุข และกลมกลืนกับอาคารและสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบ

6.2 ลักษณะของอาคาร เป็นอาคารสีเขียวและมีความเป็นสาธารณะ เป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทันสมัยสอดรับกับ Next Gen และ New Normal ออกแบบให้ติดตั้งระบบพลังงานทางเลือกได้ เช่น Solar Roof ได้

6.3 รวมการจัดผังบริเวณและจัดภูมิทัศน์ของพื้นที่โครงการโดยรวม 2.5 ไร่ (กรอบแดง) และทางเข้าออกและการไหลของผู้คนที่มาใช้บริการด้วย

6.4 พื้นที่ถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน คือพื้นที่โซน 1-3  (ดังรูปที่ 2) โดยอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 55 ปี จะอยู่ในพื้นที่โซน 2 ส่วนตรงกลาง (ในพื้นที่อื่นๆ สามารถออกแบบอาคารเพิ่มเติมได้)

6.5 ออกแบบแนวคิดเพื่อให้ก่อสร้างเป็น 3 เฟส ที่สามารถใช้งานส่วนของเฟสที่ดำเนินสร้างก่อนได้ตามงบประมาณโดยเริ่มก่อสร้างเมื่อได้งบประมาณ 20-30 ล้าน และ สามารถสร้างเฟสต่อไปได้โดยไม่กระทบพื้นที่ใช้งานแล้ว

6.6 ออกแบบแนวคิดเพื่อให้ก่อสร้างเป็น 3 เฟส เฟสที่-1 วงเงินก่อสร้าง 20-30 ล้านบาท เฟสที่-2 วงเงินจัดหา 10 ล้านบาท และ เฟสที่-3 วงเงินจัดหา 15 ล้านบาท ผู้เสนอแบบต้องแสดงหรืออธิบายให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างและการที่สามารถใช้งานอาคารได้อย่างต่อเนื่องตามงานแต่ละเฟสได้โดยการก่อสร้างในเฟสต่อไปจะไม่กระทบงานของเฟสที่แล้วเสร็จไปแล้ว โดยผู้ออกแบบสามารถนำเสนอแนวคิดในการออกแบบในวงเงินข้างต้น อาทิเช่น

A: ออกแบบอาคารรวมเป็นส่วนเดียว

เฟสที่-1. เป็นอาคารเดียวสร้างโครงสร้างให้จบและเดินระบบต่างๆที่จำเป็น (ไม่สามารถมาทำที่หลังได้) พร้อมตบแต่งและทำระบบให้เสร็จสามารถใช้งานในเฟส-1 ที่จำเป็นก่อน

เฟส-2. ตบแต่งและทำระบบในเฟส-2 ที่จำเป็น

เฟส-3. เก็บงานแล้วเสร็จของส่วนตบแต่งหรือระบบที่จำเป็นสุดท้าย

B: ออกแบบอาคารเป็นส่วนๆ

เฟส-1. ทำในส่วนที่จำเป็นจะต้องใช้งานก่อนโดยตบแต่งจนเสร็จพร้อมระบบที่ใช้งานได้ และ เพิ่มในส่วนต่อขยายไปในเฟส-2เพื่อให้สามารถใช้งานเฟส-1 ได้พร้อมๆกับก่อสร้างเฟส-2 ได้

เฟส-2. ทำในส่วนที่จำเป็นที่จะต้องใช้งานเฟส-2 โดยตบแต่งจนเสร็จพร้อมระบบใช้งาน และ เพิ่มในส่วนต่อขยายไปในเฟส-3เพื่อใช้สามารถใช้งานเฟส-2 ได้พร้อมๆกับก่อสร้างเฟส-3 ได้

เฟส-3. เก็บงานในส่วนที่เหลือทั้งหมด

หมายเหตุ: พื้นที่ใช้สอยในเฟส 1-3 ตามกำหนดในข้อ 5 และ ตัวอย่างงานที่จำเป็นในเฟส-1 เช่น ระบบไฟฟ้าและระบบปรับอากาศ ทำตู้เมนและสายเมน สำหรับพื้นที่ส่วนกลางและห้องที่กำหนดให้แล้วเสร็จในเฟส-1 และ งานตกแต่งภายในเฉพาะพื้นที่ส่วนกลางและห้องที่กำหนด

6.7 ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้พัฒนาแบบก่อสร้างจะต้องมีการประยุกต์ใช้โปรแกรมที่แสดงภาพ 3 มิติ มาช่วยในการทำแบบ ประมาณราคา และประกอบในการคุมงานก่อสร้างได้ 

6.8 พื้นที่ใช้สอยควรเป็นไดนามิกส์ที่สามารถปรับรูปแบบใช้งานภายในได้ตามกิจกรรมที่เปลี่ยนไป

 

7. กำหนดการนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ

7.1 กำหนดส่งผลงานแบบแนวคิดประกวด (Conceptual design, Perspective) ตามเกณฑ์ประกาศใน TOR ภายในวันที่ 14 มกราคม 2565

ณ กลุ่มงานองค์กรสัมพันธ์และกิจการพิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ที่ตั้ง: ถนน กาญจนวณิชย์ ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110

โทรศัพท์: 074-287079, 074-287087, 074-287111

อีเมล์: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.  

7.2 ผลงานที่ต้องนำส่ง ดังนี้

7.2.1 เพลทผลงานเอกสารสีขนาด A1 จำนวน 1 เพลทต่อ 1 บุคคล/นิติบุคคล ประกอบด้วยแนวความคิดในการออกแบบ รูปด้าน รูปตัด ทัศนียภาพภายนอกและภายใน และอื่นๆ ตามที่เห็นว่าจำเป็นและเหมาะสม

7.2.2 คำบรรยายแนวความคิดในการออกแบบมีความยาวไม่เกิน 400 คำ พิมพ์ลงบนกระดาษA4 (ถ้ามีเพิ่มเติม)

7.2.3 พิมพ์ชื่อผู้เสนอผลงาน หมายเลขสมาชิกสภาสถาปนิกหรือเลขที่ใบอนุญาตฯ (หากมี) หมายเลขโทรศัพท์ สถานที่ติดต่อ และอีเมล ลงบนกระดาษ A4 แนบมาพร้อมเพลทแสดงผลงาน (ห้ามแสดงชื่อหรือสัญลักษณ์ ที่ด้านหน้าเพลทผลงาน)

7.2.4 แผ่น CD หรือ Handy Drive บันทึกไฟล์ภาพเคลื่อนไหว แสดงทัศนียภาพภายนอกและภายในของงานที่ออกแบบ ความยาวไม่น้อยกว่า 90 วินาที พร้อมไฟล์เพลทผลงาน

7.2.5 ส่งไฟล์เพลทผลงาน ที่อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. ภายในวันและเวลาเดียวกัน

7.2.6 ผู้ที่ได้รับรางวัลจะต้องส่งไฟล์งานออกแบบ ที่สามารถเปิดได้ด้วยเครื่องมือช่วยออกแบบสมัยใหม่ที่ผู้จัดประกวดเห็นชอบและไฟล์ผลงานที่ส่งถือเป็นกรรมสิทธิของผู้จัดประกวด

       7.3 ประกาศรางวัลชนะเลิศ และ รางวัลชมเชย รวม 4 รางวัล ภายในวันที่ 28 มกราคม 2565 ผ่านทางเว็บไซต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ https://www.eng.psu.ac.th/ และ https://55years.eng.psu.ac.th/

 

8. วงเงินค่าจ้างในการประกวดแบบ

- รางวัลประกวดแบบชนะเลิศ 200,000 บาท

- รางวัลรองชนะเลิศ 1 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท

- รางวัลชมเชย 2 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท

 

        9. เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้เสนอผลงาน

9.1 ผลงานด้านการออกแบบภาพรวมโครงการ แนวความคิด (Conceptual Design) รูปแบบสถาปัตยกรรมอาคาร แนวคิดรูปลักษณ์ภายนอกและภายใน

9.2 สื่อความเข้าใจในการจัดแสดงผลงานถึง “ศูนย์ร่วมมือพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้สำหรับอุตสาหกรรมและสังคมสู่ประเทศไทย 4.0”

9.3 เป็นอาคารภายนอกมีความสง่างาม มีรูปแบบทันสมัย สื่อถึงอาคารสีเขียวและมีความเป็นสาธารณะ สื่อถึงความร่วมมือและเปลี่ยนผลงานของเครือข่ายต่างๆทั้งองค์กรของรัฐ เอกชน และสังคม สอดรับกับ Next Gen และ New Normal

9.4 มีแนวคิดการจัดวางพื้นที่ใช้สอยภายในและภายนอกอาคาร และความสัมพันธ์กับบริบทโดยรอบพื้นที่ที่ดีและเหมาะสม

9.5 ความคิดสร้างสรรค์ และความเหมาะสมในการเลือกใช้เทคโนโลยี

9.6 ความเหมาะสมของรูปแบบอาคาร ที่ง่ายต่อการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง รวมถึงการบริหารจัดการงบประมาณและควบคุมต้นทุนของโครงการ

9.7 มีความเป็นเป็นประตูสู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ผ่อนคลายและมีความเป็น third place

9.8 ข้อเสนออื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับโครงการ

 

       10. ข้อตกลงและเห็นชอบ

10.1 ผลงานด้านการออกแบบที่ส่งเข้าประกวดทุกผลงานถือเป็นกรรมสิทธิของเจ้าของโครงการประกวด (คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ที่เจ้าของโครงการฯ สามารถนำไปดัดแปลง ขยายผลได้โดยสิทธิในความเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว

10.2 ผู้เข้าประกวดมีสิทธ์ส่งผลงาน 1 ทีม (บุคคลหรือนิติบุคคล) ได้ 1 ผลงาน

10.3 ผลงานทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดที่ส่งเข้าร่วมประกวดจะต้องเป็นแนวคิดและรูปแบบที่ไม่เคยมีการนําเสนอที่ใดมาก่อนและต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์งานของผู้อื่น หากได้รับรางวัลและถ้าตรวจพบภายหลัง จะถือเป็นโมฆะและเรียกรางวัลทั้งหมดคืนเพื่อมอบให้แก่ผู้มีสิทธิ์อันถูกต้องต่อไป

10.4 คำตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สุด และขอสงวนสิทธิ์ไม่นำผลงานมาพิจารณา หากผู้เข้าร่วมประกวดส่งผลงานมาไม่ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนด รวมทั้งขอสงวนสิทธิ์ในการมอบรางวัลหนึ่งรางวัลใดหากพิจารณาแล้วว่าไม่มีผลงานที่เหมาะสมที่จะได้รับรางวัลดังกล่าว

 

11. ข้อมูล/รูปภาพประกอบอื่นๆของโครงการ

          ดังแนบ

รูปที่ 3 ขนาดพื้นที่ส่วนต่างๆ

สอบถามรายละเอียดเรื่องพื้นที่และสถานที่ก่อสร้าง

ติดต่อ  คุณนเรศ  จินดาเพ็ชร์ 

         โทร. 0 7428 7100 มือถือ 0805396731 Email :    This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

สอบถามรายละเอียดอื่นๆ ทั่วไป

ติดต่อ  คุณธัญญ์มุนินทร์  ปวินท์ธนาธร

          โทร. 0 7428 7079       Email : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 


 

รูปภาพแนบ

สามารถค้นหาผ่าน google map  https://goo.gl/maps/xrazdHFVRicbJpv17

 

 

 

เว็บไซต์นี้ใช้ Cookie

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์